นีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ
นีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ

นีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ

นีโคไล ดมีตรีเยวิช อัฟค์เซนเตียฟ (รัสเซีย: Никола́й Дми́триевич Авксе́нтьев; 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1878 – 24 มีนาคม ค.ศ. 1943) เป็นสมาชิกแกนนำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐบาลชั่วคราวแห่งรัสเซียทั้งปวง ซึ่งเป็นตำแหน่งประมุขแห่งรัฐรัสเซียตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1918 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 หลังจากการโค่นล้มอำนาจและจับกุมตัวเขาโดยอะเลคซันดร์ คอลชัค ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ปกครองสูงสุดแห่งรัสเซียเขาเกิดที่เปนซาเมื่อ ค.ศ. 1878 ในครอบครัวชนชั้นสูง[1] เขาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมอสโกจนกระทั่งถูกขับออกใน ค.ศ. 1899 เนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมการล้มล้างการปกครอง จากนั้นเขาจึงลี้ภัยเรียนต่อที่เยอรมนีในระหว่าง ค.ศ. 1900 ถีง ค.ศ. 1904[1]ต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นประธานร่วมในสภาโซเวียตเซนต์ปีเตอส์เบิร์กในช่วงการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1905 ในฐานะตัวแทนของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ[2] แต่หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติก็เข้าสู่วิกฤตที่ร้ายแรง[3] ทำให้อัฟค์เซนเตียฟเริ่มหันเหสู่กระแสการเมืองใหม่ที่เรียกว่า "ลัทธิกำจัด" (iquidationism) ซึ่งเป็นกระแสการเมืองฝ่ายขวาสุดของพรรคและใกล้ชิดกับฝ่ายเสรีนิยมมากกว่าฝ่ายสังคมนิยมอื่น ๆ โดยเขาเชื่อมั่นถึงความจำเป็นในการเข้าร่วมกับสถาบันที่ก้าวหน้าอย่างเซมสตโว (земство)[4] ในการประชุมครั้งที่สองของพรรคที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1907 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการส่วนกลางและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของพรรค[5] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาเป็นหนึ่งในผู้นำสังคมนิยมกระแสลัทธิป้องกันของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ[6] โดยเขาอาศัยอยู่ที่ปารีสในระหว่างความขัดแย้งและเดินทางกลับกรุงเปโตรกราดในช่วงฤดูใบไม้ผลิของ ค.ศ. 1917[7]ท่ามกลางการปฏิวัติรัสเซีย อัฟค์เซนเตียฟกลายเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของสภาผู้แทนแรงงานและทหารเปโตรกราด (สภาโซเวียตเปโตรกราด) โดยการมีส่วนร่วมของเขาถูกจำกัดเนื่องจากกิจกรรมของเขาในสภาชาวนาที่เขาเป็นประธาน[8] อัฟค์เซนเตียฟเป็นหนึ่งในสมาชิกฝ่ายขวาของพรรค (เช่นเดียวกับเพื่อนนักเรียนที่เหลือของเขาจากมหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค) ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนน้อยแต่มีอิทธิพลมาก[9] โดยภายในกลุ่มนี้ อัฟค์เซนเตียฟเป็นที่โดดเด่นจากมีบทบาทหลักต่อการสนับสนุนการทำสงครามโลกของรัสเซีย[9] รวมถึงยังแสดงการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างชนชั้นนายทุนและนักสังคมนิยมอย่างแข็งขัน[10] เขาดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม [ตามปฎิทินเก่า: 24 กรกฎาคม] ค.ศ. 1917 แทนที่อีรัคลี เซเรเตลี ถึงกลางเดือนกันยายน ปีเดียวกัน[11][12]ต่อมาอัฟค์เซนเตียฟกลายเป็นประธานสภาชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐรัสเซีย[13] ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยต่อการเถลิงอำนาจของบอลเชวิคของเลนินในช่วงการปฏิวัติเดือนตุลาคม[14] โดยหลังจากการปฏิวัติ เขาจึงเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อความอยู่รอดของบ้านเกิดเมืองนอนและการปฏิวัติ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับบอลเชวิค คณะกรรมการมีส่วนในการจลาจลต่อต้านบอลเชวิคที่ล้มเหลวของนักเรียนนายร้อยในเปโตรกราด ภายหลังการบดขยี้กลุ่มกบฏ[15] อัฟค์เซนเตียฟจึงหลบหนีออกจากเปโตรกราด[16] เขาพยายามรวบรวมการสนับสนุนจากสามเหล่าทัพที่อยู่ในแนวรบโรมาเนียแต่ไม่สําเร็จ[17] เขาถูกจับกุมในวันที่ 30 ธันวาคม [ตามปฎิทินเก่า: 17 ธันวาคม] ค.ศ. 1917 ซึ่งการจับกุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการของรัฐบาลต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ และถือเป็นครั้งแรกในการจับกุมนักสังคมนิยมด้วยข้อหาต่อต้านการปฏิวัติ[18]ในฤดูร้อนของ ค.ศ. 1918 เขาได้หลบหนีไปที่ซามาราเช่นเดียวกับผู้นําการปฏิวัติทางสังคมที่สำคัญคนอื่น ๆ เมื่อคณะกรรมาธิการสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดตั้งรัฐบาลต่อต้านบอลเชวิค ณ ที่แห่งนี้[19] จากนั้นในเดือนสิงหาคม เขากลายเป็นผู้มีอํานาจเต็มของสหภาพเพื่อการฟื้นฟูรัสเซีย โดยมีความพยายามในการรวมกลุ่มต่อต้านบอลเชวิคหลังจากการจลาจลของหน่วยทหารเชโกสโลวักแต่ก็ล้มเหลว[20] และยังเป็นประธานการประชุมแห่งชาติที่จัดขึ้นที่อูฟาจากนั้นไม่นาน[21][22] ต่อมาในฤดูใบไม้ร่วงของ ค.ศ. 1918 เขาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการออมสค์ ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน แต่รัฐบาลของเขานั้นเป็นเพียงองค์กรขนาดเล็กที่ไม่มีแหล่งเงินทุน และในไม่ช้าก็ถูกกองทัพที่สนับสนุนพลเรือเอก อะเลคซันดร์ คอลชัค รัฐประหารรัฐบาล[23] อัฟค์เซนเตียฟไร้ซึ่งอํานาจที่แท้จริงและไม่ได้รับความไว้วางใจจากพรรคสังคมนิยมปฏิวัติตลอดจนฝ่ายขวา อัฟค์เซนเตียฟเป็นเสมือนผู้นำรัฐบาลแต่ไร้อำนาจ ซึ่งคล้ายคลึงกับรัฐบาลชั่วคราวรัสเซียในช่วงท้ายภายใต้เคเรนสกี[23] ทั้งกองกําลังพันธมิตร พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และฝ่ายขวา ต่างก็สมคบคิดเพื่อโค่นล้มเขาและรัฐบาลตั้งแต่ทีแรก[23] อัฟค์เซนเตียฟถูกกองกำลังฝ่ายขวาของคอลชัคจับกุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน และถูกเนรเทศ[24] เขาพำนักอยู่ที่ปารีสและยังคงเคลื่อนไหวอยู่ท่ามกลางเหล่าผู้อพยพขวาของรัสเซีย[25] และหลังจากความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง เขาจึงย้ายไปอยู่ที่สหรัฐ[26] และถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1943[1]

นีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ

ก่อนหน้า อีรัคลี เซเรเตลี
ถัดไป อะเลคเซย์ นีคีติน
เกิด 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1878
เปนซา จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต 4 มีนาคม ค.ศ. 1943(1943-03-04) (64 ปี)
นครนิวยอร์ก สหรัฐ
พรรคการเมือง พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
(ค.ศ. 1905–1921)
การศึกษา มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค

แหล่งที่มา

WikiPedia: นีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ https://www.wikidata.org/wiki/Q2363488#identifiers http://id.worldcat.org/fast/317040/ https://isni.org/isni/0000000445962959 https://viaf.org/viaf/314846653 https://id.oclc.org/worldcat/entity/E39PBJg4g69RF9... http://uli.nli.org.il/F/?func=find-b&local_base=NL... https://id.loc.gov/authorities/n93014349 https://www.idref.fr/161019072 https://www.questia.com/library/5677851/alexander-... https://www.worldcat.org/oclc/34461219